โบราณสถานแห่งนี้ ตั้งอยู่บนเนินเขาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเชียงแสน ไม่ปรากฏประวัติความเป็นมาของวัดนี้อย่างชัดเจนแต่ในตำนานพื้นเมืองเชียงแสนกล่าวถึงคณะสงฆ์นิกาย ป่าแดง หรือลังกาวงศ์ มาบวชกุลบุตรที่เกาะดอนแท่น เมืองเชียงแสนในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ และนิกายนี้เป็นคณะสงฆ์อรัญญาวาสี หรือวัดป่ามักตั้งอยู่นอกเมืองซึ่งสอดคล้องกับที่ตั้งของโบราณสถานแห่งนี้
โบราณสถานแห่งนี้มีร่องน้ำที่ขุดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบอาคารต่าง ๆ คือ มณฑปและวิหาร ซึ่งประดิษฐานพระประธานที่มีหน้าตักกว้างถึง ๗ เมตรถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองเชียงแสน ลักษณะของอาคารหลังนี้ คล้ายคลึงกับโบราณสถานวัดศรีชุม เมืองสุโขทัย นอกจากนี้ยังมีอุโบสถและอาคารโถงอีกหนึ่งหลัง
โบราณวัตถุที่พบมีทั้งอิฐมีรอยจารึก อิฐมีลวดลายรูปบุคคลและลวดลายต่าง ๆ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปพระพิมพ์และชิ้นส่วนภาชนะดินเผา
โบราณสถานแห่งนี้น่าจะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ แล้วใช้งานเรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 22 จนทั้งร้างไปในช่วงเวลานี้หรืออาจจะหลังจากนี้ไม่นานนัก