ตั้งอยู่ในเมืองเชียงแสนเกือบกลางเมืองค่อนมาทางทิศใต้ใกล้กับแม่น้ำโขง จากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบเจดีย์วิหารพระนอน เจดีย์และวิหาร
วิหารพระนอน เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวตามแกนทิศเหนือ-ทิศใต้ พบชิ้นส่วนเศียร พระอุระ (หน้าอก) และเม็ดพระศกของพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ในท่านอนตะแคง (ปางไสยาสน์หรือปรินิพพาน) โดยหันพระเศียรไปทางทิศใต้และหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
เจดีย์ เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก มีฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสรองรับฐานบัวคว่ำและวลดบัว เหนือขึ้นไปพังทลายลง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา
วิหาร ขุดพบเฉพาะส่วนท้ายของอาคาร พบฐานชุกชีอยู่ใต้ต้นโพธิ์และฐานอาคารตกแต่งฐานบัว โบราณวัตถุที่พบคือชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่ผลิตจากแหล่งเตาล้านนา พระพิมพ์ปกโพธิ์และพระพุทธรูปทำจากหินทรายสกุลช่างพะเยา
ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างสันนิษฐานจากรูปแบบสถาปัตยกรรม น่าจะสร้างขึ้นและใช้งานในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๒