โครงการพัฒนาสื่อมัลติมีเดียเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ่านวัดในสกุลช่างเชียงแสน

The Development of multimedia to promote cultural tourism through the temple in Chiang Saen Craftmen School
สาขาสถาปัตยกรรม คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

จินตภาพเมืองเชียงแสน

ผังเมืองเชียงแสนปัจจุบัน ผังเมืองรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวทอดแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ มีกำแพงเมืองและคูน้ำ 3 ด้าน กำแพงด้านทิศเหนือยาว 950 เมตร ทิศตะวันตกยาว 2,500 เมตร ทิศใต้ยาว 850 เมตร ส่วนกำแพงด้านทิศตะวันออกพังทลายจมลงในแม่น้ำโขงตั้งแต่ในอดีต

ทำเลที่ตั้งเมืองเชียงแสนเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในอดีตเป็นจุดควบคุมเส้นทางติดต่อค้าขายกับอาณาจักรตอนบน และอาณาจักทางตะวันออกและตะวันตก ได้แก่ จีนยูนาน สิบสองพันนา เชียงตุง หลวงพระบาง เวียดนาม พม่าฯ พื้นที่การตั้งถิ่นฐานเมืองเชียงแสน มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นทางสัญจรหลัก มีแม่น้ำคำ และแม่น้ำกก ด้านทิศตะวันตกตัวเมืองเป็นเส้นทางหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรม

เมืองเชียงแสนปัจจุบันเชื่องโยงกับพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ที่เป็นจุดด่านพรมแดนข้ามไป สปป.ลาว และเส้นทางเดินเรือลุ่มแม่น้ำโขงไปประเทศจีน ผังเมืองด้านทิศตะวันตกมีแนวสันเขากั้น เป็นที่ตั้งของกลุ่มโบราณสถานที่เคยเป็นเขตอรัญวาสี และที่ราบลุ่มกว้างใหญ่สำหรับพื้นที่เกษตรกรรม

การมาเยือนของนักท่องเที่ยว และแขกต่างบ้าน ต่างเมือง จะมีเสน่ห์ประจำช่วงฤดูกาล เนื่องจากเมืองเชียงแสนมีสภาพภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่ประกอบด้วยทุ่งนาข้าว ไร่ข้าวโพด และป่าต้นสักที่ขึ้นเต็มแนวกำแพงเมืองและในกลุ่มโบราณสถาน ทำให้บรรยากาศฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว ปรับเปลี่ยนมุมมองตลอดปี วิถีชีวิตของชาวเมือง อยู่แบบเรียบง่ายที่ปะปนกันระหว่างเมืองการค้าขายชายแดนกับเมืองพักอาศัยและเกษตรกรรม กลุ่มประชากรในตัวเมืองมีคนไทยเชื้อสายไตเมืองยองที่อพยพมาจากลำพูนในอดีต กลุ่มคนลาวที่อพยพสมัยลาวอยู่ใต้การปกครองฝรั่งเศส และช่วงที่ลาวเกิดสงครามปลดปล่อยภายใน กลุ่มคนจีนที่เข้ามาในสมัยหลัง จะพบการใช้ประโยชน์พื้นที่ในเมืองที่มีขอบเขตการแบ่งโซน ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำไร่ยาสูบในอดีตของคนลาว พื้นที่ตลาดและย่านพาณิชยกรรมของคนจีน พื้นที่ริมน้ำโขงเป็นจุดท่าเรือขนส่งสินค้าและสัญจรของคนในเมือง และเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว และจีน

สภาพบ้านเรือนเกาะกลุ่มอยู่ในโซนกลางเมือง และขึ้นไปทางด้านเหนือของเนื้อเมือง ด้านทิศใต้ยังเป็นพื้นที่โล่งสำหรับเพาะปลูกเกษตรกรรม ย่านพาณิชยกรรมและสถาบันราชการอยู่เกาะกลุ่มสองฟากถนนแกนหลักของเมือง คือถนนพหลโยธิน และถนนริมโขงลักษณะกายภาพเมืองยังไม่มีอาคารสูง โดยทั่วไปองค์เจดีย์หลวงยังคงสูงเด่นสง่าเป็นจุดหมายตาของเมือง ที่เต็มไปด้วยกลุ่มโบราณสถานแทรกปะปนกับบ้านพักอาศัย และสถานที่ราชการ การวางผังโครงสร้างเมืองในปัจจุบันถนนตัดเป็นช่องกริดตารางผืนผ้าในสมัยจอลพล ป.พิบูลย์สงคราม

การเยี่ยมชมเมือง และการรับรู้จดจำเมืองจะง่ายและชัดเจนในระบบกริดถนนหลักที่สามารถอธิบายจินตภาพเมือง (Image of The City) พอสังเขปดังนี้

1.เส้นทาง (Path)

มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1016 ที่มาจากอำเภอแม่จันเชื่อมเข้าสู่เขตกำแพงเมืองชั้นในกับถนนพหลโยธินที่เป็นแนวตะวันตก-ตะวันออก จรดแม่น้ำโขงกับแนวถนนริมโขงที่เป็นแกนเหนือ-ใต้ ถนน กริดแกนตะวันตก-ตะวันออก มีถนนหนองมูด ที่เชื่อมป้อมประตูหนองมูด และถนนทัพม่าน เชื่อมจากป้อมประตูทัพม่านเชื่อมกับถนนริมโขง ถนนแนวแกนเหนือ-ใต้ มีถนนสาย 1 และถนนสาย 2 เป็นถนนสายหลักในเขตเมือง ถนนริมโขง เป็นถนนเลียบตลอดแนวน้ำแม่โขง ถนนเลียบกำแพงเมืองด้านในตลอดตัวเมืองสามารถปั่นจักรยานเยี่ยมชมกำแพงเมือง และโบราณสถาน ระบบกริดแบบผืนผ้าเป็นตัวกำหนดเนื้อเมืองมีถนนซอยขนาดเล็กแบบรูปทรงอิสระ เชื่อมโยงในบล็อกเนื้อเมืองต่าง ๆ ที่เป็นบ้านพักอาศัยและพื้นที่เกษตรกรรม สองฟากถนนมีต้นจามจุรีและต้นสักขึ้นเป็นแนวตลอดสองข้างถนน เส้นทางสัญจรทางน้ำ ได้แก่แม่น้ำโขง ที่เป็นเส้นทางเรือบรรทุกขนส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค และสัญจรของนักท่องเที่ยว ของกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง

2.เส้นขอบ (Edge)

เส้นขอบของเมืองเชียงแสนเมื่อเข้าสู่ตัวเมืองตามถนนสายหลักทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1016 จะเห็นแนวต้นสักเป็นปราการกันเป็นทิวแถวที่แยกระหว่างพื้นที่ราบเกษตรกรรมและพื้นที่เมืองในแนวราบที่กั้นแบ่งเนื้อเมืองภายนอกกับภายใน ตรงทางเข้าป้อมประตูป่าสัก ต่อมาจะเห็นแนวกำแพงเมืองเชียงแสนโบราณ และแนวคูน้ำ ตลอดพื้นที่เมืองทั้งสามด้าน ส่วนด้านทิศตะวันออกของตัวเมืองแนวแม่น้ำโขง จะเป็นปราการธรรมชาติที่ชัดเจนแบ่งระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว ส่วนที่แบ่งเนื้อเมืองภายในได้แก่ แนวกริดถนนแนวตั้ง และแนวนอนของเมือง

3.ย่าน (Districts)

เนื้อเมืองเชียงแสนแบ่งเป็นย่านนอกเมือง คือพื้นที่เกษตรกรรมโดยรอบ และพื้นที่พักอาศัยที่เบาบาง สถานที่ราชการ โรงพยาบาลอำเภอเชียงแสน และกลุ่มโบราณสถานนอกเมือง

ส่วนภายในเมืองจะประกอบด้วยย่านพาณิชยกรรมตั้งอยู่ใจกลางเมืองค่อนมาทางริมฝั่งแม่น้ำโขงระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนริมโขง เป็นที่ตั้งตลาดสด ตลาดลาวขายสินค้าเกษตรกรรม เรือนแถวและอาคารพาณิชย์ ที่ทำการธนาคารพาณิชย์และร้านค้าต่างๆ

ย่านพักอาศัยกระจายอยู่ทั่วไปในเขตเมืองมีความหนาแน่นสูงในพื้นที่ใจกลางเมือง แนวถนนพหลโยธิน ถนนหนองมูดโซนที่อยู่ติดกับถนนริมโขงกับถนนสาย 1 ถนนสาย 2

ย่านพื้นที่เกษตรกรรมและที่โล่งจะอยู่พื้นที่เนื้อเมืองด้านโซนทิศใต้หลังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงแสน และสำนักงานยาสูบ สำนักงานเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน

ย่านสถานศึกษา โรงเรียนเชียงแสนวิทยาคม ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของเมืองติดป้อมประตูหนองมูด โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 ตั้งอยู่ถนนพหลโยธิน ฝั่งเหนือหลังที่ว่าการอำเภอเชียงแสน และสถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงแสน

ย่านสถาบันราชการประกอบ ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงแสนตั้งอยู่ถนนริมโขง ถนนหมายเลข 1290 ติดกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงแสนบริเวณสามแยกเชื่อมถนนพหโยธิน หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) ตั้งอยู่ตอนบนของเนื้อเมือง ถนนริมโขง ส่วนสถานีตำรวจน้ำ 1 กองกำกับการ 12 กองบังคับการตำรวจน้ำตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของเมือง ตรงข้ามกับท่าเรือเชียงแสน แห่งที่ 1 สองฟากแนวถนนพหลโยธินจากป้อมประตูป่าสักเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสนตั้งอยู่ติดกับวัดเจดีย์หลวง และตรงกันข้ามเป็นที่ทำการด่านศุลกากรเชียงแสน ที่ทำการไปรษณีย์เชียงแสน ด่านตรวจคนเข้าเมืองเชียงแสน

ในภาพรวมย่านพักอาศัย ย่านสถาบันการศึกษาและสถาบันราชการ ย่านพาณิชยกรรม ย่านพื้นที่เกษตรกรรมจะพบตำแหน่งซากโบราณสถานอยู่แทรกปะปนกันไปทั่วทั้งเมืองมีวัดที่คงสภาพใช้งานปัจจุบัน อยู่ 4 แห่ง วัดผ้าขาวป้าน วัดพระเจ้าล้านตอง วัดเจดีย์หลวง วัดปงสนุก และอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ คือวัดป่าสักหางเวียง

4.ชุมทาง (Node)

จุดรวมกิจกรรมจะตั้งอยู่บนถนนพหลโยธินด้านติดถนนริมโขง ตรงข้ามโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 เป็นที่ตั้งของตลาดสดสินสมบูรณ์ ร้านขายทองและร้านค้า ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ธนาคารพานิชย์ มีสถานีรถโดยสารวิ่งระหว่างอำเภอเชียงแสน กับอำเภอเมืองเชียงราย บรรยากาศคึกคักตลอดทั้งวัน ประกอบกับผู้ปกครองมารับมาส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียน และเลิกเรียนตอนเย็นการจราจรติดขัด ตามช่วงเวลาเข้าตลาดเช้า ส่วนชุมทางสัญจรทางน้ำอยู่ที่ท่าเรือพาณิชย์แห่งที่ 1 ชาวเมืองทั่วไป ชาวประมง ชาวลาว ขึ้นที่ท่าตลาดลาวอยู่ถนนริมโขงเลยสามแยกสถานีตำรวจภูธรอำเภอเชียงแสนลงมา

ทุกเย็นวันเสาร์มีตลาดถนนคนเดินขายสินค้าเบ็ดเตล็ด อาหาร ผลไม้และผักพืชผลการเกษตร เริ่มตั้งแต่หน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน ถึงหน้าวัดผ้าขาวป้าน ส่วนวันธรรมดาตอนเย็นชาวเมืองใช้พื้นที่โล่งว่างริมแม่น้ำโขงตลอดแนวเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจมีแผงลอยบริการขายอาหารและเครื่องดื่มนับเป็นเสน่ห์ที่รองรับกิจกรรมชาวเมืองเชียงแสนและนักท่องเที่ยวบนพื้นที่ริมแม่น้ำโขง

5.ภูมิสัญลักษณ์ (Landmark)

เดินทางเข้าสู่เมืองเชียงแสนตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1016 จะเห็นแนวต้นสักเป็นปราการแสดงขอบเขตเมืองเชียงแสนขึ้นตามแนวกำแพงเมืองในระยะไกล พอเริ่มต้นเข้าสู่เมืองมีภูมิสัญลักษณ์ระยะใกล้ ได้แก่ อนุสาวรีย์ช้างงู บริเวณวงเวียนเข้าสู่เมืองและถนนเลี่ยงเมือง ป้ายเมืองเชียงแสน แนวป้อมประตูป่าสักและแนวคูน้ำกำแพงเมืองโบราณ ภายในเมืองภูมิสัญลักษณ์ระยะใกล้ที่เด่นชัด คือ องค์เจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง เป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีขนาดใหญ่และสูงที่สุดในเมือง ภูมิสัญลักษณ์ระยะไกล ที่เป็นจุดหมายตาด้านทิศตะวันตกของเมือง คือวัดพระธาตุจอมกิตติ ตั้งอยู่บนยอดดอยเห็นวิหารแทรกกับช่องกลุ่มต้นไม้เด่นเป็นสง่า ด้านทิศใต้ ได้แก่ วัดพระธาตุผาเงา เห็นองค์เจดีย์พระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์เด่นเป็นสง่าในระยะไกลของฝั่งไทยและ สปป.ลาว เมื่อขึ้นไปบนยอดเขาจะเป็นจุดชมวิวที่เห็นทั้งเมืองเชียงแสน และฝั่ง สปป.ลาว ในระยะไกล ตอนฟ้าเปิดเป็นจุดขึ้นไปชมวิวสามารถเห็นไปถึงพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ เขตปกครองพิเศษงิ้วทองคำที่เอกชนจีนเช่าพื้นที่ สปป.ลาวและฝั่งพม่า เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวจะต้องขึ้นไปกราบพระขอพรเมื่อมาเยือนเมืองเชียงแสน