กรมศิลปากรทำการขุดแต่งวัดสัสดีใน พ.ศ. ๒๕๔๙ และบูรณะใน พ.ศ. ๒๕๕๑ ผลการดำเนินงานพบหลักฐานการก่อสร้างและบูรณะหลายครั้ง ครั้งแรกสร้าง มีอาคารสำคัญคือเจดีย์ทรงระฆัง และวิหารตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน การบูรณะครั้งที่ ๑ ได้มีการปรับเปลี่ยนเจดีย์เป็นทรงปราสาท ๕ ยอด ต่อมาได้ขยายขนาดเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้นแล้วจึงสร้างมณฑปที่มียอดเป็นทรงดอกบัวตูมและมีฐานเป็นบัวลูกฟักแบบศิลปะสุโขทัย หลักจากนั้นได้มีการบูรณะมุขด้านหน้าของมณฑปอีก ๕ ครั้ง โดยขยายให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและปรับเปลี่ยนฐานบัวลูกฟักเป็นฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่แบบศิลปะล้านนา
วิหารตั้งอยู่ด้านตะวันออกของกลุ่มโบราณสถาน พบหลักฐานการบูรณะหลายครั้งจนครั้งสุดท้ายได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นอุโบสถที่มีโครงสร้างหลังคาเป็นม้าตั่งไหม มุงด้วยกระเบื้องดิน ขอ เสา และผนังก่ออิฐฉาบปูนประดับลวดลายปูนปั้นรูปสัตว์หิมพานต์และพันธ์พฤกษาโดยรอบ การขุดแต่งพบว่าในช่วงสุดท้ายของอุโบสถได้ถูกไฟไหม้และน่าจะเป็นสาเหตุของการพังทลายของอุโบสถหลังนี้
จากรูปแบบสถาปัตยกรรมและหลักฐานที่ปรากฏ สันนิษฐานว่าวัดสัสดีนี้ น่าจะสร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จากนั้นมีการบูรณะและใช้งานสืบเนืองมาจนถึงช่วงเมืองเชียงแสนแตกใน พ.ศ. ๒๓๔๗