โครงการพัฒนาสื่อมัลติมีเดียเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ่านวัดในสกุลช่างเชียงแสน

The Development of multimedia to promote cultural tourism through the temple in Chiang Saen Craftmen School
สาขาสถาปัตยกรรม คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

การศึกษาวิธีคิด โลกทัศน์และภูมิปัญญา

วิถีการออกแบบและปฏิบัติงานช่าง แบบแผนการถ่ายทอด  องค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น จากการสัมภาษณ์พ่อสล่าเสาร์แก้ว เลาดี กล่าวถึงภูมิหลังของแกนนำกลุ่มสล่าปูนปั้นทั้ง 3 คนของเมืองเชียงแสนยุคใหม่ว่า มีภูมิหลังรากวัฒนธรรมของเมืองเชียงรายและเมืองเชียงแสนที่หล่อหลอมมาในสายเลือด

สล่าประกอบ มงคลคลี ที่ถูกยกย่องว่าเป็นแกนนำหลัก เบอร์ที่ 1 นั้นนอกจากเชี่ยวชาญในศิลปกรรมพื้นบ้านแล้วการได้เดินทางลงไปทำงานก่อสร้างที่เมืองโบราณ สมุทรปราการนั้นเป็นการเปิดโลกทัศน์ของการเรียนรู้รูปแบบศิลปกรรม วิธีคิด เทคนิคการก่อสร้าง เทคนิคการทำงานในรูปแบบสมัยใหม่ วัสดุและเทคโนโลยีปูนปั้นของช่างแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศไทย เปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนฝึกช่าง ที่ได้นำเอาองค์ความรู้ใหม่จากแดนไกลมาประยุกต์ใช้กับงานสกุลช่างพื้นบ้าน ให้ออกมาเป็นลักษณ์เฉพาะของสกุลช่างเชียงแสนยุคใหม่ (ทีมผู้วิจัยขอกำหนดสกุลช่างเชียงแสนยุคใหม่ เริ่มนับปี พ.ศ. 2527 นับแต่การก่อตั้งชมรมช่างและศิลปินเชียงแสน)

สล่าแดง สุตะวงศ์ ได้รับการยกย่องเป็นมือวางอันดับที่ 2 มีภูมิหลังที่เติบโตอยู่ในเขตเมืองเชียงแสน ที่ได้ซึมซับวัฒนธรรมประเพณีและได้เห็นซากปรักหักพังของโบราณสถานในเขตเมืองมาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับมีพรสวรรค์ด้านการวาดรูป การได้เห็นซากปรักหักพังของอาคารทางศาสนา ทั้งเจดีย์ วิหาร ซุ้มประตูโขง ได้ซึมซับและจดจำลวดลายปูนปั้นที่หลงเหลือปรากฏในซากอารยธรรมในแต่ละแห่งแล้วนำมาประยุกต์ใช้ในงานประติมากรรมในเวลาต่อมา

ผลงานของกลุ่มสล่าปูนปั้นเชียงแสนทั้ง 3 คนในสมัยแรกได้รับอิทธิพลทางความคิดและรูปแบบพื้นฐานจากรูปแบบศิลปกรรมเชียงแสน ต่อมาได้นำมาผสมผสานกับรูปแบบศิลปะเชียงใหม่ สุโขทัย น่าน แพร่ เริ่มรับงานก่อสร้าง และต่อเติมปรับปรุงอยู่ในเขตเมืองเชียงแสนก่อน และที่ปรากฏชื่อเสียงแรกเริ่ม คือ การออกแบบก่อสร้างวิหารหลวงพ่อผาเงา วัดพระธาตุผาเงา อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยมีแนวความคิดที่แปลกใหม่แหวกแนวประเพณีที่เคยทำกันมาและใช้เทคนิควิธีการของวัสดุปูนปั้นแนวทดลอง แต่เดิมช่างจะใช้ปูนปั้นเป็นปูนตำสูตรโบราณ ที่เป็นภูมิปัญญามาแต่อดีตมีขั้นตอนเทคนิคและวิธีการที่ซับซ้อนยุ่งยาก ใช้ระยะเวลานานเปลี่ยนมาเป็นปูนปั้นที่ใช้ปูนซิลิก้าผสมน้ำยาเคมีแทนน้ำปูนขาว ผลงานที่ปรากฏเชิงประจักษ์ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่สล่าสกุลช่างเชียงแสนยุคใหม่คือ วิหารและเสาหลักเมือง วัดมิ่งเมือง อ.เมือง จ.น่าน ที่เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมล้านนาประยุกต์ที่โดดเด่นทั้งการออกแบบลวดลายและเทคนิควิธีการสมัยใหม่ ซึ่งเป็นช่างกลุ่มแรกของเมืองเชียงแสน การศึกษาวิจัยในครั้งนี้เป็นเพียงการศึกษาสำรวจเบื้องต้นให้รับรู้ว่ามีการสืบทอดปรากฏองค์ความรู้ช่างปูนปั้นของเมืองเชียงแสน ในงานศึกษาวิจัยครั้งนี้ขอเลือกกรณีศึกษา ช่างปูนปั้นพื้นบ้านที่เป็นตัวแทนช่างสกุลเชียงแสนรุ่นใหม่ที่โดดเด่น คือ สล่าเสาร์แก้ว

ภาพที่ 1 แสดงพระธาตุวัดป่าสัก สร้างประมาณ พ.ศ. 1838 ลวดลายปูนปั้นเป็นเอกลักษณ์ศิลปกรรมชั้นครูของสกุลช่างเชียงแสน
ภาพที่ 2 แสดงรูปแบบศิลปกรรมเจดีย์วัดป่าสักที่ได้รับอิทธิพลจากมอญ หริภุญชัย สุโขทัย และช่างพื้นถิ่น

1. ศึกษาวิธีคิด โลกทัศน์และภูมิปัญญา วิถีการออกแบบและปฏิบัติงานช่างและแบบแผนการถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น

สล่าเสาร์แก้ว เลาดี สล่าแกนนำผู้ร่วมก่อตั้งชมรมช่างและศิลปินเมืองเชียงแสน เกิดวันที่ 25 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2498 ปัจจุบันอายุ 62 ปี อยู่บ้านสบรวก เลขที่ 161 หมู่ที่ 1 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ชีวิตในวัยเด็กเกิดและบวชสามเณร เรียนที่วัดบ้านเกิด ที่บ้านแม่จัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย ได้ซึมซับความรู้ทางธรรมะ จากพุทธประวัติและพระธรรมวินัย ประวัติศาสตร์พื้นบ้านจากหลวงปู่เจ้าอาวาสที่สั่งสอน และมีพรสวรรค์ด้านการวาดเขียน ต่อมาได้บวชเป็นพระภิกษุย้ายมาเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดพระธาตุจอมกิตติ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ระหว่างบวชเรียนมีความสนใจในศิลปกรรมปูนปั้น ได้เข้ามาสำรวจซากวัดร้างต่างๆในเมืองเชียงแสน ย่านพื้นที่เมืองเก่ารอบทะเลสาบเชียงแสน (เวียงหนองล่ม) ในการนี้ได้นำสมุดพกและดินสอมาจดบันทักวาดรูปลวดลายปูนปั้นในที่ต่างๆ โดยแหล่งที่มาบางครั้งค้นพบจากเศษปูนปั้นจากการที่ชาวบ้านดำหาสัตว์น้ำและสมบัติจากทะเลสาบเชียงแสนและแม่น้ำโขง หรือเศษซากองค์ประกอบอาคารทางศาสนาที่หักหล่นเกลื่อนบนพื้นดินโดยรอบโบราณสถาน บางครั้งถึงขั้นปีนต้นไม้ขึ้นไปสังเกตลวดลายปูนปั้นโบราณ โดยสล่าเสาร์แก้ว กล่าวยกย่องว่าเจดีย์วัดป่าสักเมืองเชียงแสน ถือเป็นแหล่งองค์ความรู้และแรงบันดาลใจถือเป็นปฐมบทชั้นครูของลวดลายสกุลช่างเมืองเชียงแสนยุคแรกเริ่ม

ภาพที่ 3 แสดงภาพสล่าเสาร์แก้ว เลาดี

2. ศึกษาวิธีคิด โลกทัศน์และภูมิปัญญา

วิธีคิดของสล่าเสาร์แก้ว ได้มาจากการศึกษาบวชเรียนในพระพุทธศาสนา ได้ศึกษาวรรณกรรม คว่าวธรรมพื้นเมืองและนิยายปรัมปรา ธรรมมหาชาติชาดก ไตรภูมิพระร่วง ที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างจินตนาการ โดยสล่าเสาร์แก้วมีแนวคิด “วิจิตร พิสดาร สื่อความหมาย” สามารถอธิบายได้ดังนี้

วิจิตร : งานสถาปัตยกรรมและประติมากรรมปูนปั้น ต้องมีความสวยงามอ่อนช้อย ตามบริบทของสถานที่ตั้งแต่ละแห่ง โดยนำเอาบริบทและองค์ประกอบของพื้นที่มาสร้างเป็นแรงบันดาลใจ ออกแบบและสร้างโครงเรื่องราวของตัวงาน

พิสดาร : แนวความคิดของผลงานแต่ละแห่งจะไม่ซ้ำกัน จะพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ พัฒนารูปแบบจากประเพณีโบราณสู่การสร้างสรรค์ การผูกเรื่องราวนำเสนอ การผูกลวดลายศิลปะงานปูนปั้น ประยุกต์ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโครงสร้าง ให้แตกต่างกับอาคารทางพุทธศาสนาในที่อื่นๆ

สื่อความหมาย : ภูมิปัญญาและโลกทัศน์ วิธีคิดแบบตะวันออกตามคติพุทธศาสนา จักรวาลแบบไตรภูมิ การเวียนว่าย ตาย เกิด การตีความแบบไตรภูมิ เรื่อง แดนสวรรค์  แดนมนุษย์ แดนบาดาล เป็นต้นเรื่องสู่กระบวนการแนวความคิดและการออกแบบของสล่าเสาร์แก้ว

การออกแบบอาคารทางพุทธศาสนา ผลงานส่วนใหญ่จะเป็นวิหาร ส่วนรอง คือ ศาลาและงานปั้นอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญทางพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ งานแต่ละแห่งจะเริ่มต้นจากความต้องการของเจ้าศรัทธาพระเถระชั้นผู้ใหญ่ เจ้าอาวาสวัด และกลุ่มกรรมการวัด ชาวบ้าน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายประชุมสรุปร่วมกัน เพื่อกำหนดเป้าหมายความต้องการ แล้วสล่าเสาร์แก้วจะดำเนินการออกแบบเขียนแบบร่างของผลงานให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขตามความต้องการในภาพรวม ซึ่งสล่าเสาร์แก้วจะอธิบายผลงานการออกแบบตามกระบวนการ วิจิตร พิสดาร สื่อความหมาย ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของงาน และตอบสนองกับประโยชน์ใช้สอย การสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของผลงานแต่ละสถานที่โดยนำเอาบริบทของพื้นที่ทุกมิติมาผสมผสานประยุกต์ใช้ในงานออกแบบ มิติบทบาทและความสำคัญ ความต้องการของงาน ทำเลสถานที่ตั้ง สภาพภูมิประเทศ มุมมอง บริบทของที่ตั้งต่อชุมชนโดยรอบ เป้าหมายที่ต้องการให้ผลงานสื่อออกมาในลักษณะไหน โดยนำมาผสมกับฝีมือเชิงช่างของสกุลช่างเชียงแสน โดยงานฝีมือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของช่างกลุ่มสล่าเสาร์แก้ว คือรูปแบบงานสถาปัตยกรรมและโครงสร้างที่โดดเด่นพิสดารแนวเชียงแสนประยุกต์ ประติมากรรมพญานาค ที่แสดงออกในอริยะบทที่เลื้อยพันสะดุ้ง ชูคอและเศียรพุ่งสู่ท้องฟ้า นาคเศียรเดี่ยว สามเศียร ห้าเศียร เก้าเศียร รูปแบบรายละเอียดประติมากรรมสังเกตความคม ความอ่อนช้อยของปลายหงอนของพญานาค ลูกแก้วในดวงตาที่สดใส ความอ่อนช้อยของเกล็ด ส่วนการสร้างและผูกลวดลายโครงเรื่องมาจากคติจักรวาลทางพุทธศาสนานำมาตีความและแทนความหมายเข้าไปสู่ผลงานการออกแบบ ตามคำอุปมาอุปไมยว่า “ลัวะเล่นใบ ไตเล่นก้าน” คือ มองกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมแถวลุ่มแม่น้ำกก นิยมลวดลายปูนปั้นแบบพันธุ์พฤกษา ที่โครงลวดลายประกอบด้วย ก้านใบ กาบ ดอก (มาจากคติพุทธศาสนา ก่อเกิด ตั้งอยู่ ดับไป) ลักษณะดอกมี 3 ลักษณะ จี้ บาน หุบ ส่วนช่างปูนปั้นชาวไต นิยมปั้นลวดลายพันธุ์พฤกษาแบบก้าน กิ่ง นอกจากนั้นก็มีลวดลายสัตว์ป่าหิมพานต์

3. วิถีการปฏิบัติงานช่างและแบบแผนการถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น

จากการรวมทีมของสล่าทั้งสามคมนำคณะช่างจากเมืองเชียงแสนและลูกทีมจำนวนหนึ่งลงไปทำงานออกแบบและรับเหมาก่อสร้างวิหารและศาลหลักเมือง วัดมิ่งเมือง อ.เมือง จ.น่านในปี พ.ศ.2535 โดยมีสล่าประกอบ มงคลคลี เป็นหัวหน้าทีม ในการออกแบบและวางแผนบริหารจัดการโครงการ มีสล่าแดงกับสล่าเสาร์แก้ว เป็นเสมือนมือซ้าย-ขวา ในการร่วมทีมทำงานกับกลุ่มช่างและคนงานพื้นถิ่นเมืองน่าน การออกแบบใช้แนวความคิดการสร้างวัดที่เป็นจุดศูนย์รวมจิตวิญญาณของคนเมืองน่าน ที่ก่อเกิดความมั่นคง แปลกใหม่วิจิตรพิสดาร อลังการ สวยงามเป็นที่สนใจของประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยรูปแบบพุทธศิลป์แบบล้านนาประยุกต์ร่วมสมัย ใช้เทคนิคการสื่อความหมายของวิหารสีขาวทั้งหลังประกอบด้วยลวดลายปูนปั้นแบบประยุกต์ที่แปลกใหม่ โดยการผสมผสานรูปแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมขอมยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 น่าน สุโขทัย ลาวหลวงพระบาง เชียงใหม่และเชียงแสน มาผสมกลมกลืนเป็นรูปแบบและลวดลายใหม่ตามการตีความและจินตนาการของทีมสล่าเชียงแสน การทำงานใช้ระยะเวลาก่อสร้างร่วม 7 ปีจึงแล้วเสร็จ ทำให้เป็นสถานที่ก่อสร้าง สถานที่ทดลองและเรียนรู้ ของเหล่าช่างฝีมือและคนทีมงานที่เป็นกรรมกร ช่างฝึกหัดได้รับประสบการณ์ในการซึมซับสุนทรียศาสตร์ ศิลปะและความสวยงาม ฝึกหัดฝีมือเชิงช่าง การเรียนรู้เทคนิควิธีการก่อสร้างและเทคนิคสูตรปูนปั้นสมัยใหม่ที่ใช้ปูนซิลิก้าซีเมนต์ผสมน้ำยาเคมีแทนน้ำปูนขาวซึ่งเป็นนวัติกรรมสมัยใหม่มาแทนที่ปูนโบราณที่ใช้ระยะนานในการหมักและมีขั้นตอนในการหาวัตถุดิบและการปรุงปูนปั้นที่ซับซ้อน องค์ความรู้การออกแบบแนวประยุกต์ร่วมสมัย ทดลองปฏิบัติและการใช้เทคนิคสมัยใหม่ ทำให้การต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้แก่กลุ่มช่างปูนปั้น การสร้างกลุ่มแรงงานให้มีทักษะพัฒนาไปสู่ช่างรุ่นใหม่ การได้ประโยชน์ของบริษัทผลิตน้ำยาเคมีที่ผสมแทนน้ำปูนขาวที่ได้ทดลองการใช้ทำงานจริงเพื่อพัฒนาสูตรน้ำยาเคมีให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น กลุ่มสล่าเชียงแสนและสล่าพื้นถิ่นได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดองค์ความรู้แบบการปฏิบัติความคู่ไปกับทักษะความรู้ก่อให้เกิดความชำนาญทำให้ปัจจุบันก่อเกิดช่างปูนปั้น ผู้รับเหมาก่อสร้างงานพุทธะศิลป์ที่แตกออกมาทำงานอิสระอีกหลายกลุ่ม

ขั้นตอนการถ่ายทอดองค์ความรู้ กลุ่มลูกทีมเลือกมาจากเด็กวัยรุ่นที่ขาดโอกาสในการเรียนตามระบบการศึกษา มาจากหลายปัจจัย พื้นฐานครอบครัวส่วนใหญ่ยากจนเรียนจบระดับประถมศึกษาชั้น ป. 6 หรือสึกจากการบวชสามเณรมาเป็นฆราวาส มีใจอยากทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ จึงมาสมัครเป็นกรรมกรก่อสร้างทั้งผู้ชาย ผู้หญิง การทำงานกรรกร ยกของ ยกปูน ผสมปูนปั้น ขุดดิน ฝึกก่อฉาบ ทำงานไม้เบื้องต้น ทำงานเหล็ก ยก ผูกมัดลวด ตัดและดัดเหล็กเสริม ตัดกระจกประดับผนังและประติมากรร เป็นเบื้องต้น กรรมกรหลายคนมีหัวศิลปะที่ซึมซับและมีพรสวรรค์ ทักษะช่างฝีมือเบื้องต้นที่ดี เริ่มการสังเกตและเรียนรู้จากการทำงานจริง แบบโบราณที่เรียกว่า “ครูพัก ลักจำ”เริ่มมีทักษะฝีมีพ่อครูหรือสล่าเสาร์แก้ว จะให้เริ่มผสมปูนปั้นแบบบอกสูตรปูนปั้น สูตรปูนก่อฉาบ ปูนโครงสร้าง ปูนซีเมนต์ ทราย หิน น้ำยาเคมีแทนน้ำปูนขาวต่อสูตรสัดส่วนต่างๆ งานปั้นก็ให้เริ่มทำลวดลายง่ายๆเบื้องต้นก่อนตามแบบหรือโครงลวดลายที่สล่าเสาร์แก้วขึ้นให้ หรือช่างรุ่นใหญ่ที่มีความชำนาญอยู่ในทีมทำงานขึ้นให้พอมีทักษะฝีมือพัฒนาขึ้นมาอีกก็จะให้เป็นลูกมือผู้ช่วยช่าง และพัฒนาขึ้นมาเป็นช่าง อยู่ที่ตัวของแต่ละคนว่ามีพื้นฐานทักษะ ปัญญาไหวพริบ พรสวรรค์ด้านศิลปะ ถนัดด้านงานโครงสร้างไม้และคอนกรีต งานจิตรกรรม งานประติมากรรม งานติดกระจกสี โดยภาพรวมสล่าเสาร์แก้วจะออกแบบทั้งหมดแล้วบริหารจัดการงานก่อสร้าง ติดต่อประสานงานกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หาลูกทีมช่างฝีมือแต่ละหมวดงาน

งานออกแบบและก่อสร้างวิหาร ขั้นตอนก่อนออกแบบ ด้วยชื่อเสียงและผลงานเชิงประจักษ์ที่ปรากฏในวัดและสถานที่สำคัญหลายแห่งทำให้เป็นที่กล่าวขานในวงการพระภิกษุสงฆ์และกลุ่มช่างแขนงต่างๆร่วมถึงบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์สำหรับงานปูนปั้นสำเร็จรูป บริษัทผู้ผลิตน้ำยาเคมีแทนน้ำปูนขาว ติดต่อประสานเข้ามาเพื่อให้ช่วยออกแบบพร้อมรับเหมาก่อสร้างจนแล้วเสร็จ การรับโจทย์และวัตถุประสงค์ แนวความคิด ความต้องการ งบประมาณก่อสร้างและระยะเวลาที่กำหนด เมื่อตกลงว่าจ้าง สล่าเสาร์แก้วจะทำแบบร่างเบื้องต้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ และประชุมสรุปจนลงตัวเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายแล้วตกลงรับงานและราคาค่าจ้างเบื้องต้น โดยเสาร์แก้วรับงานออกแบบและก่อสร้างจะไม่เอางบประมาณมาเป็นตัวตีกรอบจินตนาการของท่าน ขั้นตอนออกแบบ สล่าเสาร์แก้วจะทำการออกแบบร่าง นำเสนอแนวความคิดในการออกแบบ เหตุผล ที่มาอันสัมพันธ์กับบริบทแวดล้อมของสถานที่ จนได้รูปแบบที่สวยงามได้สัดส่วนเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายในรายละเอียด วัสดุ งบประมาณการก่อสร้าง ระยะเวลาก่อสร้าง แล้วจึงไปหาช่างเขียนแบบและวิศวกรมาทำแบบก่อสร้างเพื่อยื่นขออนุญาตก่อสร้างต่อกรมศาสนาและหน่วยงานเจ้าพนักงานปกครองท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนการยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร

ขั้นตอนหลังออกแบบ ขั้นตอนเริ่มลงมือก่อสร้างวิหาร ด้วยพื้นฐานเดิมในชีวิตของสล่าเสาร์แก้วตั้งแต่วัยเด็กเคยศึกษาบวชเรียนในทางธรรมถึงระดับนักธรรมเอก มีความเชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์และการประกอบพิธีกรรมตามคติความเชื่อของคนล้านนาโบราณ จนปัจจุบันได้รับเกียรติให้เป็นผู้ทำพิธีแบบประเพณีโบราณ (ปู๋จ๋าน) จะทำการหาฤกษ์ยาม วันเวลาในการอันเป็นมงคลในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งมีความรู้เรื่องเครื่องสังเวยเซ่นไหว้ บวงสรวงบูชา พานศรีสู่ขวัญแบบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประเพณีล้านนา การวางแผนงานก่อสร้างและบริหารจัดการโครงการ ในการทำงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ในภาพรวมการทำงานก่อสร้าง ทีมทำงานช่างแต่ละแขนงจะเป็นพันธมิตรกัน และมาทำงานประสานร่วมกันในแต่ละหมวดงาน ช่างรับเหมาโครงสร้าง ช่างก่อฉาบ ช่างประติมากรรมปูนปั้น ช่างจิตรกรรมฝาผนัง ช่างประดับตกแต่งกระจก ช่างไม้และงานแกะสลัก  ช่างทาสี ช่างปูกระเบื้องงานพื้น ช่างงานดุนโลหะและทำช่อฟ้า ฉัตรทองเหลือง เป็นต้น โดยการทำงานของสล่าเสาร์จะบริหารจัดการงานก่อสร้างและลงมือปฏิบัติงานเองในขั้นตอนหลักๆดังที่กล่าวมาเกือบทั้งหมดในส่วนขอบเขตงานข้างต้น จากจินตนาการสู่การออกแบบ ลงมือปฏิบัติงานจริงเกือบทุกขั้นตอน การวาดลวดลายลงในงานจริงในสัดส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง การลงมือทำงานโครงสร้าง งานคอนกรีตและไม้ งานปูนปั้น จนอำนวยการก่อสร้างให้แล้วเสร็จให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ความประณีตสวยงาม วิจิตรพิสดาร จนเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย